เปลี่ยนเป็นภาษาไทย

Change to English
 หน้าหลักเว็บไซต์
  กลับหน้าหลัก


   "ชวนมารู้จัก Slow Reading เทคนิคอ่านช้าแต่ชัวร์ อ่านยังไงให้เข้าใจ
    และจำไปใช้ได้จริง"


 
         ในปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ในเรื่องต่างๆ ได้ง่ายและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นจากทางเว็บไซต์หรือสื่อออนไลน์ต่างๆ บทความหรือหนังสือสักเล่ม โดยเมื่อเรารู้สึกสนใจหรืออยากหาความรู้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่งก็แค่เปิดเข้าไปอ่าน แล้วเราได้เคยลองสังเกตตัวเองกันไหมว่า เวลาเราอ่านเราใช้เวลานานแค่ไหน แล้วในหนึ่งวันเราอ่านหรือรับรู้ข้อมูลความรู้ต่างๆ ไปทั้งหมดกี่เรื่องแล้วในแต่ละเรื่องเราสามารถอ่านจนเข้าใจ จำได้ และนำไปใช้ประโยชน์จริงๆ ได้มากน้อยแค่ไหน?
 
        วันนี้เราจะชวนนักอ่านทุกคนมารู้จักกับ “Slow Reading” เทคนิคอ่านช้าแต่ชัวร์ ที่มีการริเริ่มเป็นครั้งแรกโดย Richard Phillips Feynman (ริชาร์ด ฟิลลิปส์ ไฟน์แมน) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลในปี ค.ศ. 1965 จากทฤษฎีพลศาสตร์ไฟฟ้าควอนตัม และได้ถูกนำมาถ่ายทอดโดย พญ. ธิดากานต์ รุจิพัฒนกุล หรือ หมอผิง ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวพรรณและเวชศาสตร์การชะลอวัย ผ่านทาง Single Being PODCAST ที่ฟังเข้าใจง่าย ซึ่งหมอผิงได้พูดถึงเทคนิคการอ่านแบบ “ช้าแต่ชัวร์” ทั้ง 4 Steps โดยสรุปมาให้เข้าใจง่ายๆ
 
  • Step ที่ 1
ทุกครั้งที่เราอ่าน ให้เราพยายามตั้งคำถามกับตัวเองไปเรื่อยๆ เช่น หนังสือเล่มนี้กำลังจะบอกอะไรเรา ต้องการสื่อสารเรื่องอะไร หรือคนเขียนเขียนประโยคนี้ขึ้นมาเพราะต้องการจะบอกอะไร เรื่องที่เรากำลังอ่านอยู่มันเป็นข้อมูลที่ถูกต้อง หรือตรงกับสิ่งที่เราได้เรียนรู้มาหรือเปล่า ซึ่งการตั้งคำถามแบบนี้จะทำให้เราเกิด Active Process ในการอ่าน คือเราจะอ่านโดยมีการคิดและถามไปเรื่อยๆ จะไม่ใช่แค่การอ่านให้เข้าใจในช่วงเวลาสั้นๆ แล้วผ่านไปนั่นเอง
  • Step ที่ 2
ต่อมา เมื่อเราอ่านจบแล้ว ให้เรานำเรื่องที่อ่านไปเล่าให้เด็กอายุ 12 ขวบฟัง หรือจะเป็นเพื่อน พ่อแม่ หรือใครก็ได้ที่เรารู้จัก ซึ่งถ้าเราอ่านตามใน Step ที่ 1 จนเข้าใจจริงๆ เราจะสามารถนำสิ่งที่อ่านหรือสิ่งที่เข้าใจไปเล่าต่อให้เข้าใจง่ายและกระชับได้ เมื่อเล่าจบแล้วก็ให้อีกฝ่ายถามกลับ ซึ่งถ้าอีกฝ่ายเป็นเด็กก็มักจะสงสัยและถามเยอะกว่าผู้ใหญ่นั่นเอง และการถามกลับนี้ก็จะนำไปสู่ Step
ต่อไป
  • Step ที่ 3
เมื่อถูกถามกลับในคำถามที่เราไม่รู้หรือตอบไม่ได้ ก็จะทำให้เรารู้ถึงช่องโหว่ของสิ่งที่เราอ่านไปว่ามีอะไรตรงไหนที่เรายังไม่ได้รู้หรือเข้าใจจริงๆ บ้าง จากนั้นให้เรากลับไปอ่านหนังสือหรือบทความนั้นๆ ในส่วนของคำถามที่ตอบไม่ได้ซ้ำอีกครั้งเพื่อให้รู้และเข้าใจมากขึ้น
  • Step ที่ 4
หลังจากที่เรากลับไปอ่านซ้ำจนเข้าใจและสามารถตอบคำถามได้แล้ว ก็ให้เรานำข้อมูลความรู้นั้นมาจัดระเบียบและเชื่อมโยงกับ
ความรู้เดิมที่เรามีให้เป็นเรื่องเดียวกัน
 
เทคนิคการอ่านทั้ง 4 Steps ที่ว่ามานี้ เป็นเหมือนการย้ายข้อมูลความจำระยะสั้น (Short-term memory) ไปยังส่วนที่เป็นความจำระยะยาว (Long-term memory) ซึ่งจะทำให้เราเกิดการเรียนรู้ จดจำ และมีความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ และสามารถนำไปใช้จริงได้นั่นเอง




 
ขอบคุณข้อมูลจาก
Single Being PODCAST
https://digitalmore.co/slow-reading-techniques/


. . . . . . . . . . . . . . . . . .

 

Loading..
        






 
 

 



 
 

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หอสมุดและแหล่งเรียนรู้เฉลิมพระเกียรติกาญจนาภิเษก โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย เชียงราย
345 หมู่ 2 ต.รอบเวียง อ.เมือง จ.เชียงราย 57000
โทร 053-174551-4 โทรสาร 053-174-555

 Union Library Management : ULibM
Copyright 2024. All Rights Reserved.